โตโยต้า นอร์ทเทิร์น ลำปาง

สังคม


  • ลำปาง - หลักสูตร! น่าสนใจ เปิดสอนทั่วประเทศ สร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ เอไอเอสจับมือ 3 กระทรวงหลัก

    วันจันทร์ ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2565 เวลา 20:18 น.
    ลำปาง - หลักสูตร! น่าสนใจ เปิดสอนทั่วประเทศ สร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ เอไอเอสจับมือ 3 กระทรวงหลัก
    ลำปาง - หลักสูตร! น่าสนใจ เปิดสอนทั่วประเทศ สร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ เอไอเอสจับมือ 3 กระทรวงหลัก

       AIS จับมือภาครัฐ 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงมหาดไทย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ลงนามความร่วมมือ พร้อมเปิดตัว “อุ่นใจไซเบอร์” หลักสูตรการเรียนรู้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ครั้งแรกของไทย ที่เป็นการผนึกกำลังร่วมกันระหว่างภาครัฐ และเอกชน ยกระดับการเรียนการสอนในยุคดิจิทัล เพื่อปกป้องภัยไซเบอร์ สร้างภูมิคุ้มกันการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลยุคใหม่ตั้งแต่เด็ก และเยาวชนไปจนถึงคนทั่วไป

      โดยคุณครูสามารถเรียนรู้ได้เอง และยังสามารถนำไปสอนนักเรียนได้บนแพลตฟอร์มดิจิทัล LearnDi และแอปพลิเคชัน อุ่นใจ CYBER ด้วยการออกแบบเนื้อหาที่อ้างอิงมาตรฐานตามกรอบการพัฒนาทักษะทางดิจิทัลอย่าง DQ Framework (Digital Intelligence Quotient) และปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ตั้งเป้าส่งต่อไปยังสถานศึกษากว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงมหาดไทย พร้อมเดินหน้าชวนคนไทย ทุกเพศ ทุกวัย เข้าร่วมเรียนรู้วัดระดับทักษะดิจิทัล จากหลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” เพื่อยกระดับองค์ความรู้ในฐานะพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizenship)

       นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กล่าวว่า เป้าหมายการทำงานของ AIS ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาคุณภาพเครือข่ายเพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานเท่านั้น แต่เราตระหนักถึงการสร้างสังคมดิจิทัลให้ดีขึ้นด้วย ดังนั้นที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2562 เราจึงเปิดตัว โครงการ อุ่นใจไซเบอร์  เพื่อเป็นแกนกลาง สร้างเครือข่าย ชวนทุกภาคส่วนให้เข้ามาร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางบวกให้กับสังคมดิจิทัลของไทย ทั้งในมุมของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือ เพื่อช่วยให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัย และในมุมของการสร้างภูมิปัญญา ในลักษณะขององค์ความรู้เพื่อส่งเสริม และสร้างทักษะดิจิทัลให้คนไทยรู้เท่าทัน พร้อมอยู่กับโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย และสร้างสรรค์ 

      “วันนี้ AIS ยังคงเดินหน้าตามเจตนารมณ์ดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยร่วมมือกับ 3 กระทรวงหลักของประเทศ สร้างสื่อการเรียนรู้ดิจิทัลในชื่อ หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ซึ่งมี กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสุขภาพจิต ที่พัฒนาเนื้อหาหลักสูตร ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ออกแบบให้อยู่ในลักษณะขอกราฟิกหรือแอนิเมชัน และมีกระทรวงศึกษาธิการ โดย สพฐ. ที่ช่วยรับรองให้เป็นไปตามมาตรฐานของหลักสูตรด้านการศึกษา ที่พร้อมให้นักเรียนสามารถเข้ามาเรียนได้ เช่นเดียวกับกระทรวงมหาดไทยที่ส่งต่อไปยังโรงเรียนในสังกัดเช่นกัน”

    “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” นำเสนอเป็น 4 Professional Skill Module หรือ  4P4ป ที่ครอบคลุมทักษะดิจิทัล ดังนี้

    1. Practice: ปลูกฝังให้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม

    2. Personality: แนะนำการปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์

    3. Protection:  เรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์บนโลกออนไลน์

    4. Participation: รู้จักการปฏิสัมพันธ์ด้วยทักษะ และพฤติกรรมการสื่อสารบนออนไลน์อย่างเหมาะสม

       โดยตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา ได้ทำการทดลอง ทดสอบ เสมือนจริงใน Sandbox และมีคุณครูพร้อม นักเรียน ที่เข้าเรียนและสอบผ่านไปแล้วกว่า 160,000 คน

       นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า หลักสูตร อุ่นใจไซเบอร์ นับเป็นอีกก้าวสำคัญของภาคการศึกษาไทย ที่จะทำให้เราก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล และเทคโนโลยี ตามภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการขยายโอกาสการเข้าถึงบริการทางการศึกษา และวันนี้ หลักสูตรดังกล่าวผ่านการรับรองมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา หรือ ก.ค.ศ. ให้เป็นหลักสูตรการพัฒนาข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาสายงานสอน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)  สามารถนำผลการนับชั่วโมงการพัฒนาเพื่อประกอบการขอเลื่อนวิทยฐานะ ตามหลักที่ ก.ค.ศ. กำหนด เรียบร้อยแล้ว

       "การทำงานของเราวันนี้มีศึกษานิเทศก์ ครูผู้สอน บุคลากรทางการศึกษา จากสถานศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ไปใช้เป็นสื่อประกอบการเรียน การสอนกับนักเรียนไทยทั่วประเทศ ทั้งโรงเรียนในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ช.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (ก.ศ.น.) โดยจะเดินหน้าขยายความครอบคลุมการเรียนการสอนไปให้ได้มากที่สุด เพื่อทำให้บุคลากรทางการศึกษา และเยาวชนไทยมีความรู้ทักษะดิจิทัลที่เท่าทันภัยไซเบอร์ที่แฝงมากับการใช้งานอินเทอร์เน็ต รวมถึงสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นสูงสุด”

       พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจของกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสุขภาพจิต ในฐานะองค์กรหลักด้านการดูแลสุขภาพจิตของคนไทย ที่มุ่งเน้นการสนับสนุนด้านต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพจิตของตนเองได้อย่างยั่งยืน ดังเช่นการทำงาน ร่วมกับเอไอเอส พัฒนาหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ซึ่งถือเป็นการสะท้อนนโยบายที่เป็นรูปธรรมอย่างยิ่ง ทั้งนี้กรมสุขภาพจิตได้ทำหน้าที่จัดทำเนื้อหาที่เหมาะสมกับประชาชนทุกกลุ่ม ทุกวัย ในลักษณะของการ กระตุ้นเตือน แนะนำ ให้สามารถใช้ชีวิต รับมือกับความท้าทายต่างๆในยุคดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย และสร้างสรรค์ นับได้ว่าสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขอย่างชัดเจน

      ด้าน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดย รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี ในฐานะผู้ร่วมพัฒนาสื่อการเรียนการสอนหลักสูตรดิจิทัลอุ่นใจไซเบอร์ กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความตั้งใจในการทำงานร่วมกันของคณาจารย์ บุคลากร ด้วยการใช้ศักยภาพของคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม และเทคโนโลยี ซึ่งมีความสอดคล้องกับเป้าหมายในการทำงานเพื่อพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ โดยเราได้ทำการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ดิจิทัลหลักสูตร อุ่นใจไซเบอร์ ให้ออกมาอยู่ในสื่อการสอนในรูปแบบดิจิทัล รวมถึงยังการจัดทำแบบทดสอบเพื่อวัด และประเมินผลว่าผู้เรียนมีทักทักษะและเข้าใจหน้าที่พลเมืองดิจิทัลมากเพียงพอหรือไม่ โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเรียนรู้ในหลักสูตรนี้จะช่วยให้ทุกคนที่ปรับตัวในการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัล เป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ และใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์อย่างปลอดภัย

       ดร.ทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเสริม ในฐานะที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขยายหลักสูตรไปยังโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่า นอกเหนือจากเป้าหมายในการรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัย ความมั่นคงภายใน และบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ของกระทรวงมหาดไทยแล้ว วันนี้เรายังมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน และเศรษฐกิจฐานราก รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาเมืองและโครงสร้างพื้นฐาน หนึ่งในนั้นคือการทำให้ประชาชนใช้ชีวิตอยู่กับโลกออนไลน์ได้อย่างมีความสุขและปลอดภัย ผ่านการมีทักษะรับมือกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตในยุคดิจิทัลได้อย่างดี เราจึงสนับสนุนให้ครู และบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงนักเรียนจากสถานศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมกว่า 700,000 คน  ได้เรียนรู้ในหลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” ซึ่งเชื่อว่าก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการใช้ชีวิตอย่างแน่นอน

      หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ เริ่มเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนในระบบอย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่วันนี้  สำหรับประชาชนทั่วไป สามารถเรียนรู้ และสร้างทักษะทางดิจิทัลของทุกท่านได้ที่ https://learndiaunjaicyber.ais.co.th/ ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

    ฅนลำปางดอทคอม