โตโยต้า นอร์ทเทิร์น ลำปาง

รายงานพิเศษ-บทความ


  • หัวใจสำคัญ! แก้น้ำแล้งระยะยาว อ.เถิน กรมชลประทานเริ่มแผน ประตูระบายน้ำวังบ้านเหล่า

    วันพฤหัสบดี ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เวลา 14:07 น.
    หัวใจสำคัญ! แก้น้ำแล้งระยะยาว อ.เถิน กรมชลประทานเริ่มแผน ประตูระบายน้ำวังบ้านเหล่า
    หัวใจสำคัญ! แก้น้ำแล้งระยะยาว อ.เถิน กรมชลประทานเริ่มแผน ประตูระบายน้ำวังบ้านเหล่า

      ความคืบหน้าโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และสร้างแหล่งน้ำในพื้นที่ อ.เถิน จ.ลำปาง ซึ่งเป็นอำเภอทางตอนใต้ของ จ.ลำปาง ซึ่งทุกปีที่ผ่านมา ในช่วงแล้ง แม่น้ำวังที่ไหลผ่านพื้นที่ ได้แห้งลง และเกิดแห้งขอด จนพื้นทรายโผล่เป็นบ้างช่วง เพราะไม่มีการกักกั้นน้ำไว้ใช้ ทำให้น้ำไหลเปล่าประโยชน์ออกไป ดังนั้น จึงส่งผลกระทบในช่วงแล้งราวเดือนมีนาคม – พฤษภาคม ของทุกปี ต่อการใช้น้ำในการอุปโภค บริโภค และการเกษตรชาว อ.เถิน อย่างมาก

     จากปัญหาดังกล่าวทำให้ทางกรมชลประทาน มีแผนที่จะแก้ไขปัญหาภัยแล้งในระยะยาว จึงได้เริ่มโครงการประตูระบายน้ำแม่น้ำวังบ้านเหล่า อ.เถิน จ.ลำปาง เพื่อหวังให้พื้นที่ อ.เถิน และพื้นที่อำเภอทางตอนล่างของจังหวัด มีน้ำดิบกักเก็บไว้ใช้ อย่างไม่ขาดแคลน ดั่งทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งในเรื่องนี้หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ จ.ลำปาง ได้เห็นชอบที่จะสร้างขึ้น เพราะเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ และประชาชนในพื้นที่อย่างมาก หมู่บ้าน 16 แห่ง กระจายในพื้นที่ 2 ตำบลของ อ.เถิน ได้แก่ ต.ล้อมแรด 9 หมู่บ้าน และ ต.เถินบุรี 7 หมู่บ้าน จะได้ใช้ประโยชน์หากโครงการดังกล่าวสร้างขึ้น

      ขณะนี้โครงการประตูระบายน้ำแม่น้ำวังบ้านเหล่า อ.เถิน จ.ลำปาง อยู่ในขั้นตอนศึกษาความเหมาะสม และวิเคราะห์ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และพึ่งมีการปฐมนิเทศโครงการ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ณ หอประชุมโรงเรียนล้อมแรดวิทยา อ.เถิน เพื่อให้รายละเอียดแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่ อ.เถิน จ.ลำปาง ได้รับทราบถึงขั้นตอน ที่เริ่มเดินหน้าตามแผนต่างๆ ทั้งการศึกษาผลกระทบ และแผนก่อนการก่อสร้าง รวมถึงความเหมาะสม ผลดี และผลเสียของโครงการดังกล่าว

      นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน ในโอกาสเดินทางมายัง จ.ลำปาง เพื่อพูดคุยกับหน่วยงาน และประชาชนในพื้นที่ รวมถึงลงพื้นที่ดูจุดที่จะสร้างขึ้นในสายน้ำวัง เขตบ้านเหล่า ได้เผยว่า สภาพพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยพื้นที่ไม่มีสิ่งใดกักอยู่ จึงทำให้น้ำฝน หรือน้ำที่ไหลมากับแม่น้ำวังได้ไหลผ่านไป ฉะนั้น เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง พื้นที่จึงประสบปัญหา เพราะต้องพึ่งพาน้ำในแม่น้ำวังเป็นหลัก

      “กรมชลประทานได้บรรจุโครงการแก้ไขปัญหาระยะยาว ไว้ในแผนพัฒนางบประมาณรายจ่ายล่วงหน้าระยะปานกลาง (MTEF) ของกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทาน ปีงบประมาณ 2569 ซึ่งอยู่ในกระบวนการเตรียมความพร้อม ทั้งในด้านการศึกษาจัดทำรายงาน วางโครงการ และด้านวิศวกรรมชลประทาน เพื่อออกแบบก่อสร้าง และประมาณราคา ควบคู่ไปพร้อมกับแผนงาน Land Logistic Hub ของจังหวัดลำปาง ภายใต้แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด 4 ปี (พ.ศ. 2557 - 2560)”

       สำหรับขั้นตอนต่างๆ ที่วางไว้ ได้แก่ การศึกษาความเหมาะสม, การศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม, การศึกษา และวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจ และสังคม, การศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ และการดำเนินงานด้านประชาสัมพันธ์มวลชนสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วม รวมถึงการจัดทำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และพจนานุกรมข้อมูลของโครงการ เนื่องจากโครงการประตูระบายน้ำแม่น้ำวังบ้านเหล่า เป็นโครงการที่ดำเนินการในแม่น้ำวัง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักใน 23 สายของประเทศไทย จึงต้องมีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA)

      ปัจจุบันการดำเนินการอยู่ในขั้นตอนของการปฐมนิเทศโครงการ ภายใต้กระบวนการดำเนินงานประชาสัมพันธ์มวลชนสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการศึกษาความเหมาะสม และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นการแนะนำโครงการความเป็นมา , วัตถุประสงค์การศึกษา , ขอบเขตการศึกษา และแนวคิดในการพัฒนาโครงการเบื้องต้น รวมทั้งรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินโครงการ พร้อมรับฟัง รับข้อเสนอแนะ และตอบข้อซักถาม เพื่อให้ทุกฝ่าย ทุกคนเกิดความชัดเจน เป็นที่ยอมรับในโครงการ และคลายประเด็นข้อกังวลต่างๆ ของประชาชน

    (สิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง)

       ด้าน นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า โครงการนี้ ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ จ.ลำปาง อย่างมาก โดยเฉพาะ อ.เถิน ซึ่งเป็นอำเภอทางตอนใต้ของจังหวัด ที่ประสบปัญหา และเผชิญกับสถานการณ์แล้งทุกปี ฉะนั้น จึงอยากให้ประชาชนในพื้นที่เปิดใจรับสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ ว่า เราจะมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำกักเก็บที่สำคัญ เป็นประโยชน์สูงสุดในพื้นที่ ขออย่าให้มีการคัดค้าน เพราะโครงการนี้เป็นประโยชน์ต่อพื้นที่โดยรวม ทั้งพื้นที่อำเภอ และประชาชน ที่จะใช้น้ำร่วมกัน ทั้งการอุปโภค บริโภค และการเกษตร

      “หากโครงการผ่านกระบวนแล้วเสร็จ ทั้งการศึกษาความเหมาะสม การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเริ่มโครงการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ มั่นใจว่า จะมีส่วนช่วยให้พื้นที่มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค ตลอดทั้งปี และทำให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกพืชได้ทั้งในฤดูฝน และฤดูแล้งเพิ่มขึ้น ทั้งยังจะช่วยบรรเทา และแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และการขาดแคลนน้ำได้อย่างยั่งยืน”

       จ.ลำปาง มีแม่น้ำวัง เป็นแม่น้ำสายหลัก มีความยาว 382 กิโลเมตร มาจากพื้นที่ต้นน้ำใน อ.วังเหนือ ซึ่งอยู่ทางตอนบนสุดของ จ.ลำปาง และเป็นสายน้ำที่ไหลผ่าน 7 อำเภอของจังหวัด ซึ่งในช่วงฤดูฝนของทุปปี มีปริมาณฝนตกลงมาเฉลี่ย 1,093 มิลลิเมตร และไหลผ่านสายน้ำวังเป็นหลัก สำหรับโครงการประตูระบายน้ำแม่น้ำวังบ้านเหล่า หากมีการสร้างขึ้น จะสามารถกักเก็บน้ำฝน และจากสายน้ำวังได้เกือบ 3 ล้านลูกบาศ์กเมตร เป็นประโยชน์ต่อพื้นที่การเกษตรเกือบ 1,000 ไร่

      โครงการศึกษาความเหมาะสม และวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการประตูระบายน้ำแม่น้ำวังบ้านเหล่า อ.เถิน จ.ลำปาง ได้เริ่มดำเนินงานตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 และจะสิ้นสุดการปฏิบัติงานในวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 360 วัน สามารถติดตามข้อมูล ข่าวสารของโครงการ หรือสอบถามเกี่ยวกับรายละเอียดของโครงการผ่านทางช่องทางไลน์ @wangbanlao

    อัศวิน วงค์หน่อแก้ว / รายงาน