โตโยต้า นอร์ทเทิร์น ลำปาง

รายงานพิเศษ-บทความ


  • น้ำคือชีวิต ชลประทานคลายแล้ง ลุ่มน้ำวังตอนล่าง ผลดี 5 อำเภอ จ.ลำปาง 2 อำเภอ จ.ตาก

    วันศุกร์ ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2564 เวลา 15:59 น.
    น้ำคือชีวิต ชลประทานคลายแล้ง ลุ่มน้ำวังตอนล่าง ผลดี 5 อำเภอ จ.ลำปาง 2 อำเภอ จ.ตาก
    น้ำคือชีวิต ชลประทานคลายแล้ง ลุ่มน้ำวังตอนล่าง ผลดี 5 อำเภอ จ.ลำปาง 2 อำเภอ จ.ตาก

       จากสถานการณ์ภัยแล้งที่ผ่านมา ที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มน้ำวังตอนล่าง โดยเฉพาะในเขต อ.แม่พริก จ.ลำปาง และพื้นที่รอยต่อ อ.สามเงา และ อ.บ้านตาก จ.ตาก ที่แม่น้ำวังแห้งขอดลง ทำให้มีภาพสันดอนทรายโผล่ขึ้นมาให้เห็น และมีการร้องขอให้ทาง จ.ลำปาง ชลประทานในพื้นที่ จ.ลำปาง ปล่อยน้ำจากเขื่อนกิ่วลม อ.เมือง จ.ลำปาง ลงไปช่วย (ข่าวที่นำเสนอไป https://www.konlampang.com/newsdetail.php?nID=2377)

      ทำให้ทาง จ.ลำปาง จึงได้มีการจัดประชุมคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดลำปาง เป็นการเร่งด่วน เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 โดยมี ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ประชุมร่วมกับ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง 

       ในที่ประชุมได้เห็นชอบปล่อยน้ำจากเขื่อนกิ่วลม จ.ลำปาง จำนวน 15 ล้านลูกบาศ์กเมตร ลงสู่แม่น้ำวัง เพื่อส่งไปช่วยพื้นที่ลุ่มน้ำวังตอนล่าง ทั้งใน อ.แม่พริก จ.ลำปาง และ อ.สามเงา อ.บ้านตาก จ.ตาก ที่ขาดแคลนน้ำในการอุปโภค และบริโภค (ตามข่าวที่นำเสนอไปhttps://www.konlampang.com/newsdetail.php?nID=2380ซึ่งการปล่อยน้ำลงไปช่วยเหลือครั้งนี้ เป็นการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนในกรณีเร่งด่วน โดยทางเลขาธิการ สทนช. ก็สั่งการให้ จ.ตาก เร่งจัดทำแผน และแก้ไขปัญหา ในระยะยาวในพื้นที่ เพื่อไม่ให้ปีต่อไปเกิดปัญหาอีก

      จ.ลำปาง โดยสำนักชลประทานที่ 2 และโครงการชลประทานลำปาง , โครงการส่งน้ำ และบำรุงรักษากิ่วลม – กิ่วคอหมา โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่วัง ลำปาง ได้คิกออฟ เริ่มปล่อยน้ำจากเขื่อนกิ่วลม เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2564 โดยมี ว่าที่ตรีพันตรี อดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง และ นายทินกร เหลือล้น ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 2 พร้อมส่วนราชการในสังกัดชลประทานลำปาง ร่วมกดสวิตซ์เปิดบานระบายน้ำ ณ เขื่อนกิ่วลม อ.เมือง จ.ลำปาง โดยปริมาณน้ำได้ไหลไปถึงลุ่มน้ำวังตอนล่าง ในวันที่ 10 เมษายน 2564 

       จากการปล่อยน้ำครั้งนี้ นอกจากจะส่งไปช่วยลุ่มน้ำวังตอนล่าง ทั้งในเขต อ.แม่พริก จ.ลำปาง และ อ.สามเงา อ.บ้านตาก จ.ตาก แล้ว ยังส่งผลทำให้แม่น้ำวังตลอดสายในเขต จ.ลำปาง ตั้งแต่ อ.เมือง ไปจนถึง อ.เถิน จ.ลำปาง ระยะทางกว่า 180 กิโลเมตร มีระดับน้ำที่สูงขึ้น และสามารถนำน้ำขึ้นมาใช้ เพื่อการอุปโภค และบริโภค ได้ โดยเฉพาะจุดที่สูบน้ำประปา สามารถดูดน้ำขึ้นมาใช้ได้อย่างไม่ขาดแคลน และสามารถผ่านช่วงแล้งนี้ไป จึงนับเป็นประโยชน์แก่พื้นที่ 5 อำเภอของ จ.ลำปาง ประกอบด้วย  อ.เมือง , อ.เกาะคา , อ.สบปราบ , อ.เถิน และ อ.แม่พริก  และ 2 อำเภอ ของ จ.ตาก ได้แก่ อ.สามเงา และ อ.บ้านตาก

       ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า จากการสำรวจแม่น้ำวังขณะนี้ บางจุดที่มีฝายชะลอน้ำ ก็มีน้ำเต็มฝาย เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ และคาดว่าในแต่ละพื้นที่ริมแม่น้ำวัง จะไม่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ และผ่านพ้นฤดูร้อน และแล้งในปีนี้ไปได้ นอกจากนี้ บางจุดที่น้ำเสื่อมสภาพ และมีเศษวัชพืชปกคลุม จากสถานการณ์ภัยแล้ง มวลน้ำที่มีการปล่อยลงมา ก็ได้ผลักดันน้ำเดิมให้ไหลไป และทำให้ระบบนิเวศของแม่น้ำวังกลับมาเป็นปกติ ท่ามกลางสภาพอากาศในช่วงปลายเดือนเมษายน 2564 ที่เริ่มมีฝนตกลงมาแล้ว และตกหนักบางแห่ง ทำให้แหล่งน้ำ และพื้นที่คลายร้อน และแล้งไปได้ ในระดับหนึ่ง ซึ่งคาดว่าในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 นี้ ฝนน่าจะตกลงมาต่อเนื่อง และจะเข้าฤดูฝนต่อไป  

       สถานการณ์น้ำในเขื่อนใหญ่ 2 แห่งใน จ.ลำปาง (ณ 29 เม.ย.64) ภาพรวมปริมาณน้ำอยู่ที่ 104.072 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 37.64 ของความจุทั้งหมดของเขื่อน 2 แห่ง โดยที่เขื่อนกิ่วคอหมา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ปริมาณน้ำมีอยู่ 47.273 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 27.76 , ส่วนเขื่อนกิ่วลม อ.เมือง ปริมาณน้ำ 56.799 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 53.47 ซึ่งปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ทั้งหมดนั้น จะยังมีสำรอง และสามารถใช้ เพื่อการอุปโภค และบริโภคใน จ.ลำปาง ต่อไป ได้อย่างเพียงพอ จนเข้าสู่ฤดูฝนนี้

    ฅนลำปางดอทคอม

    ภาพโดย..สำนักชลประทานที่ 2